เกมนั้นเป็นกิจกรรมยามว่างของเด็กๆที่สร้างความสนุกสนาน เสริมสร้างทักษะให้กับเด็กได้ เกมกับเด็กนั้นถือเป็นสิ่งคู่กันเพราะในช่วงวัยเด็กของทุกๆคนย่อมผ่านการเล่นเกมมาทั้งสิ้น การเล่นเกมที่เหมาะสมนั้นเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเด็กเพราะสามารถสร้างความคิดสร้างสรรค์ ฝึกสมองและไหวพริบได้ แต่เด็กอีกหลายคนกลับใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อเล่นเกมจนเริ่มมีผลกระทบในกิจกรรมต่างๆ เช่น ไม่ยอมทานข้าวหรือทานข้าวไม่ตรงเวลา ผลการเรียนแย่ลง หงุดหงิดง่าย อดหลับอดนอน เป็นต้น พ่อแม่หลายคนเริ่มเกิดความกังวลว่าการที่ลูกเล่นเกมมากๆนั้นจะทำให้ลูกเป็นคนติดเกมหรือเปล่า ติดเกมแล้วจะมีผลกระทบอย่างไร มีวิธีป้องกันจะทำให้ลูกไม่ติดเกมได้อยางไร และถ้าติดเกมแล้วจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง
เข้าใจเรื่องของเกมก่อน
เกมนั้นไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใดเพราะมีมาหลายยุคหลายสมัยแล้วแต่มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆจนปัจจุบันที่มักจะอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น เกมแต่ละเกมจะมีกฎกติกาที่กำหนดไว้เพื่อให้ผู้เล่นเกิดความสนุกสนาน ความบันเทิง และฝึกทักษะต่างๆ ปัจจุบันเราสามารถจำแนกประเภทของเกมได้เป็น เกมต่อสู้ เกมยิงปืน เกม RPG เกมผจญภัย เกมวางแผน เกมปริศนา เกมจำลองเหตุการณ์ เกมกีฬา เป็นต้น เกมบางประเภทนั้นได้กำหนดภาระกิจไว้ล่วงหน้าแล้วว่าผู้เล่นจะต้องผ่านด่านแต่ละด่านของเกมไปเรื่อยๆจนสามารถเอาชนะในด่านสุดท้ายได้ ก็ยืนยันได้ว่าผู้เล่นสำเร็จภารกิจที่เกมตั้งเป้าไว้ ส่วนใหญ่มักจะพบในเกมผจญภัยหรือเกมปริศนา แต่ก็มีเกมอีกบางประเภทที่ไม่ได้กำหนดภาระกิจของผู้เล่นไว้ว่าผู้เล่นจะต้องมีภาระกิจสุดท้ายอย่างไรบ้างเพราะไม่ได้เรามีเป็นเล่นคนเดียวที่อยู่ในเกม เป็นการเชื่อมโยงผู้เล่นหลายๆคนเข้ามาเล่นพร้อมกันและทำให้เกิดการแข่งขันเช่น เกม RPG เกมวางแผน เป็นต้น การมีผู้เล่นหลายๆคนในเกมทำให้เกมมีความหลากหลาย มีสถานการณ์และความสนุกที่แตกต่างกันไปทุกครั้งถึงแม้จะเป็นด่านเดิมๆ เกมในลักษณะนี้ผู้เล่นจะเล่นนานกว่าเกมประเภทอื่นๆ เช่น RoV PUBG League of Legends(LOL) FIFA และ Ragnarok เป็นต้น
รู้ได้อย่างไรว่าลูกติดเกมหรือไม่
การเล่นเกมนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติตั้งแต่เด็กอนุบาลไปจนถึงวัยทำงานเลยทีเดียว เพราะเด็กที่เกิดและโตมาในยุค IT นั้นคงหนีไม่พ้นกับเกมในรูปแบบคอมพิวเตอร์หรือมือถือและเป็นสิ่งที่จะหลีกเลี่ยงได้ยาก การเล่นเกมคงเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับเด็กยุคปัจจุบันแต่จะทราบได้อย่างไรว่าการเล่นเกมที่เหมาะสมนั้นอยู่ตรงไหน ในบทความนี้จะแสดงระดับและพฤติกรรมการเล่นเกมอยู่ 9 ระดับโดยเด็กเล่นเกมอยู่ในระดับ 1-5 ถือว่าเล่นเกมอยู่ในเกณฑ์ปกติไม่ติดเกม แต่หากพบว่าเด็กมีพฤติกรรมการเล่นเกมอยู่ที่ระดับ 5 หรือมากกว่าก็เข้าขั้นติดเกมแล้ว
Level1: เล่นเกมเป็นครั้งคราว
ในระดับแรกเด็กจะเล่นเกมเป็นแค่บางครั้ง จะให้ความสำคัญกับกิจกรรมอื่นๆมากกว่าการเล่นเกมเช่น เล่นกับเพื่อน อยู่กับพ่อแม่ จะเล่นเกมเพื่อความสนุกสนานในบางครั้งเท่านั้นไม่ได้เล่นติดต่อกันทุกวัน หากเล่นเกมก็ไม่ได้มีการวางแผนที่จะเล่นเกมมาก่อนและสามารถหยุดเล่นเกมได้เมื่อมีกิจกรรมอื่นที่สำคัญกว่า
Level2: ควบคุมตัวเองได้ มีการแบ่งเวลาในเล่นเกม
ระดับนี้เด็กจะเล่นเกมในเวลาที่พ่อแม่กำหนด สามารถแบ่งเวลาเล่นเกม เวลาเรียน เวลาทำการบ้านหรือกิจกรรมอื่นๆได้ดี สามารถจัดลำดับความสำคัญได้เช่นต้องเรียนและทำการบ้านให้เสร็จก่อนถึงจะเล่นเกม
Level3: ต้องการเวลาในการเล่นเกมมากขึ้น
เด็กเริ่มมีจำนวนชั่วโมงในการเล่นเกมมากขึ้น พอบอกให้หยุดเล่นเกมก็มักจะขอเวลาต่อไปเรื่อยๆ พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นครั้งสองครั้งไม่เป็นไรแต่ให้สังเกตจำนวนชั่วโมงในรอบสัปดาห์หรือเดือนว่าเด็กใช้จำนวนชั่วโมงในการเล่นเกมเพิ่มขึ้น
Level4: เริ่มมีอาการไม่พอใจเมื่อสั่งให้หยุดเล่นเกม
เริ่มมีความรู้สึกหงุดหงิด โกรธ เป็นบางครั้งเมื่อถูกสั่งให้หยุดหรือมีอะไรมาชัดจังหวะขณะเล่นเกม รู้สึกอารมณ์เสียเมื่อไม่ได้เล่นเกม
Level5: ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นเกม
จากงานวิจัยพบว่าหากเด็กใช้เวลาเล่นเกมมากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน (เป็นวันว่างที่ไม่ได้เรียนหนังสือ) จะเข้าขั้นติดเกม การเล่นเกมจำนวนชั่วโมงมากๆอาจทำให้เด็กนอนดึกมากขึ้น โดยการติดเกมในระดับนี้จะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอหลายสัปดาห์ต่อกัน ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงครั้งสองครั้งหรือนานๆครั้ง
Level6: มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแย่ลง
อาการนี้จะพบว่าเด็กอยากอยู่คนเดียวมากขึ้นไม่ค่อยอยากจะออกไปเล่นกับเพื่อนหรือมีเฉพาะเพื่อนที่เล่นเกมเท่านั้น นอกจากนั้นยังพบว่าเด็กเริ่มมีความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวแย่ลง พูดน้อยลงหรือมีส่วนร่วมกิจกรรมในครอบครัวน้อยลง อย่างไรก็ตามพฤติกรรมนี้ต้องมั่นใจว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการที่เด็กเล่นเกมมากๆ ไม่ได้เป็นบุคคลิกส่วนตัวของเด็กที่มีอยู่แล้ว
Level7: ไม่สนใจในการเรียนการทำงานหรือกิจกรรมอย่างอื่น
ในระดับนี้เด็กจะสูญเสียการควบคุมตัวเองและจะส่งผลแต่หน้าที่หลักที่ควรจะทำเช่น เรียนหรือทำงาน เมื่อเด็กไปโรงเรียนในเวลาเรียนก็จะโดดเรียนเพื่อไปเล่นเกม ในเวลาเรียนก็จะคิดถึงแต่เกมไม่มีสมาธิกับการเรียน หลักเลิกเรียนก็ไม่สนใจทำการบ้านหรือกิจกรรมอื่นๆเลยนอกจากเกม ส่งผลให้การเรียนตกต่ำและมีการรายงานพฤติกรรมต่างๆจากครูประจำชั้นหรือฝ่ายปกครอง
Level8: มีพฤติกรรมด้านลบ
เด็กที่เล่นเกมมากๆอาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น พูดโกหกเพื่อให้ได้เล่นเกม ขโมยเงินเพื่อนำไปเล่นหรือซื้อของในเกม เก็บตัวเงียบไม่ชอบพบปะผู้คน มีพฤติกรรมที่เลียนแบบคำพูดหรือท่าทางเชิงลบจากเกม
Level9: เสพติดเกมแบบรุนแรง
การติดเกมในระดับนี้เด็กจะมีทุกพฤติกรรมในระดับที่กล่าวมาจากก่อนหน้าทั้งหมด แต่จะเกิดผลเสียด้านสุขภาพและสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ด้านสุขภาพเช่น มีการอาการปวดมือ ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว ดวงตาอ่อนล้า ตาพร่ามัว ตาแห้ง เกิดวุ้นในตา ขาดน้ำ ขาดสารอาหาร เป็นต้น ด้านสุขภาพจิต เช่น โมโหง่ายขึ้น เกิดความเครียดเพราะไม่สามารถเอาชนะในเกมได้ เป็นโรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า เป็นต้น
ติดเกมแล้วจะมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง
การติดเกมไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงที่แก้ไขไม่ได้ การติดเกมอาจจะเกิดแค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหากแก้ไขถูกวิธีก็จะสามารถให้เด็กเลิกติดเกมได้ ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้เด็กเลิกติดเกมได้นั้นคือครอบครัว ต้องมีการวางแผน คอยสังเกต สร้างกิจกรรม เพื่อให้เด็กไม่ติดเกมหรือให้เด็กเล่นเกมอย่างเหมาะสม แนวทางแก้ไขที่จะทำให้เด็กไม่ติดเกมมีดังนี้
1. ลำดับกิจกรรมที่สำคัญก่อนเล่นเกม
การจัดลำดับกิจกรรมที่ต้องทำก่อนหลังนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งเพื่อสร้างความรับผิดชอบให้กับตัวเด็กเองและเป็นการลดโอกาสติดเกมอีกด้วย เมื่อเลิกเรียนจากที่โรงเรียนแล้ว พ่อแม่ควรสร้างเงื่อนไขขึ้นมาว่าเด็กจะต้องทำอะไรบ้าง ถึงจะเล่นเกมได้ เช่น ทำการบ้าน อ่านหนังสือ อาบน้ำ กินข้าว หลังจากนั้นถึงอนุญาติให้เด็กเล่นเกมในเวลาที่เหมาะสมได้
2. สร้างกิจกรรมอื่นแทนการเล่นเกม
กิจกรรมนั้นก็สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ กิจกรรมในครอบครัวและกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งพ่อแม่ควรจะส่งเสริมทั้งสองกิจกรรมควบคู่กันไป การให้เด็กทำกิจกรรมนั้นถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้เด็กลดเวลาในการเล่นเกมหันไปสนใจอย่างอื่นและพัฒนาทักษะด้านอื่นของเด็กได้อีกด้วย
- กิจกรรมในครอบครัวนั้นสามารถช่วยให้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้คนในครอบครัวได้เช่น พาไปดูหนัง พาไปเที่ยว พาไปซื้อของ ล้างรถ ปั่นจักรยาน รดน้ำต้นไม้ ปาร์ตี้บาร์บีคิว เป็นต้น
- กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ควรเป็นกิจกรรมที่เด็กสนใจเพราะจะสามารถทำกิจกรรมนั้นได้เป็นเวลานานๆและอาจค้นพบพรสวรรค์ขึ้นได้ กิจกรรมเหล่านี้ควรเป็นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนที่เด็กได้เรียนในโรงเรียนแล้วเพราะต้องการให้เด็กได้ผ่อนคลายและหาความชอบของเด็ก หากพ่อแม่ไม่สามารถเป็นคนสอนได้ก็สามารถส่งไปเรียนยังสถาบันต่างๆได้เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี ศิลปะ เป็นต้น
3. จำกัดเวลาเล่นเกม
สร้างข้อตกลงให้กับเด็กขึ้นมาก่อนว่าจะสามารถเล่นเกมได้ก็ต่อเมื่อกิจกรรมที่มีความสำคัญกว่าทำเสร็จหมดแล้วและการเล่นเกมในแต่ละวันนั้นพ่อแม่อนุญาติให้เล่นเกมได้กี่ชั่วโมง หากผิดข้อตกลงนี้เช่น เล่นเกินเวลาที่กำหนด หรือกิจกรรมหลักอย่างการบ้านยังทำไม่เสร็จ จะถูกลงโทษอย่างไรบ้าง
4. ให้รางวัล
การให้รางวัลเมื่อเด็กสามารถทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้ดีก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เด็กรู้สึกดี โดยการให้รางวัลนั้นอาจจะไม่ใช่เพียงแต่สิ่งของอย่างเดียว การพูดชม สัมผัส หอม ก็สามารถทำให้เด็กรู้สึกดีได้หรือหากเด็กคนไหนเริ่มใช้เวลาในการเล่นเกมมากเกินไป พอพ่อแม่บอกให้ลดเวลาในการเล่นเกมลงและเด็กสามารถทำให้ ก็สามารถให้รางวัลเด็กเพื่อเป็นแรงจูงใจลดเวลาในการเล่นเกมได้เช่นกัน
5. ปรึกษาจิตแพทย์
การปรึกษาจิตแพทย์สามารถใช้ได้ในกรณีที่เด็กติดเกมอย่างมากเพราะจิตแพทย์จะพยายามเข้าใจสถานการณ์ในครอบครัว เข้าใจพฤติกรรมเด็ก เข้าในสภาพแวดล้อมต่างๆและให้คำแนะนำได้อย่างเหมาะสม
แนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เด็กติดเกม
สำหรับแนวทางการป้องกันนั้นส่วนมากแล้วพ่อแม่ควรจะคอยสังเกตพฤติกรรมการเล่นเกมของเด็กและคอยให้คำปรึกษาแนะนำไปในทางที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กติดเกม
1. เด็กควรอยู่ในสายตาระหว่างเล่นเกม
การปล่อยให้เด็กเล่นเกมและสามารถอยู่ในสายตาของพ่อแม่นั้นจะดีกว่าปล่อยให้เด็กเล่นเกมอยู่ในห้องเพียงคนเดียวเพราะระหว่างเล่นเกมนั้นเราสามารถสังเกตถึงพฤติกรรมระหว่างเล่นเกมได้เช่น เสียงดังโวยวาย หงุดหงิด เป็นต้น ซึ่งพ่อแม่ก็ควรหาเวลาอธิบายเด็กถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและคอยย้ำว่าเป็นเพียงเกม
2. รีวิว Rating game ก่อนให้เด็กเล่นเกม
การรู้ว่าเด็กเล่นเกมอะไรและ Rating game นั้นเป็นอย่างไรบ้านก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งเหมือนกัน ถึงแม้ว่า Rating game นั้นไม่ได้มีผลอะไรที่จะทำให้เด็กติดเกมหรือไม่ติดเกมแต่มีผลว่าเกมที่เด็กเล่นนั้นเหมาะสมกับวัยหรือไม่เพราะหากเด็กเล่นเกมที่ไม่เหมาะสมกับวัยแล้วอาจส่งผลทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากการเรียนแบบในเกมก็เป็นได้ ปัจจุบันมีเว็บไซต์ https://www.esrb.org หรือคณะกรรมการจัดเรทสื่อซอฟต์แวร์เพื่อความบันเทิงของสหรัฐ สามารถนำชื่อเกมมาค้นหาเพื่อแสดง Rating game ของเกมโดย Rating นั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 7 ประเภทดังนี้
Game Rating | ที่มา |
- EC เหมาะกับเด็กอายุ 3 – 6 ปี เนื้อหาไม่มีความรุนแรง
- E เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป
- E10+ เหมาะสำหรับเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป
- T เหมาะสำหรับเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป
- M เหมาะสำหรับเด็กอายุ 17 ปีขึ้นไป
- AO เหมาะสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้นหรืออายุ 18 ปีขึ้นไป
- หมายถึงเกมยังไม่ได้รับการพิจารณา Rating หรืออยู่ระหว่างการพิจารณา
3. วิเคราะห์ข้อมูลการใช้โทรศัพท์จาก Application
ปัจจุบันระบบปฏิบัติการต่างๆติดตั้งโปรแกรมเพื่อดูลักษณะการใช้งานต่างๆบนมือถือและเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับพ่อแม่ที่อาจไม่มีเวลาดูว่าลูกเล่นเกมไปนานเท่าไหร่ โดยโปรแกรมนี้จะติดตามว่า เล่นเกม chat ฟังเพลง ดู Youtube ระยะเวลานานเท่าไหร่แล้ว โปรแกรมสรุปข้อมูลการใช้งาน คอยเตือน และ Block การเข้าถึงเกมได้อีกด้วยหากเด็กได้เล่นตามเวลาที่กำหนดไปในแต่ละวันแล้ว ตัวอย่างโปรแกรม Screen Time จาก iPhone
เริ่มจากไปที่ Settings > Screen Time ในหน้าแรกจะเป็นการสรุปข้อมูลการใช้งานโดยรวมว่าเล่นมือถือไปเท่าไหร่และเป็น Application ประเภทไหนบ้าง เช่น เกม Facebook Youtube เป็นต้น สามารถเลือกดูข้อมูลเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือย้อนหลังกลับไปได้
นอกจากนั้น Screen Time ยังมีฟังก์ชัน App limits อีกด้วย คือสามารถเข้าไปตั้งค่าได้ว่า ใน 1 วันต้องการให้เด็กเล่นเกมได้กี่ชั่วโมง หากเด็กเล่นเกมครบตามจำนวนชั่วโมงที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว เด็กจะไม่สามารถเข้า Application ที่เกี่ยวกับเกมได้อีกเลย
Reference:
- R.Firat Sipal and Pinar Bayhan, Preferred computer activities during school age: Indicators of internet addiction
- Nicole Alexandra Cross, THE RELATIONSHIP OF ONLINE GAMING ADDICTION WITH MOTIVATIONS TO
PLAY AND CRAVING (https://etd.ohiolink.edu/apexprod/rws_etd/send_file/send?accession=bgsu1435084396&disposition=inline)
- https://www.counselling-directory.org.uk/memberarticles/gaming-addiction-indicators-in-children
- ผศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล, เดก็ติดเกม, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (https://www.si.mahidol.ac.th/th/department/psychiatrics/cap/knowledge53/I14.pdf)