DCA ย่อมาจาก Dollar-cost Averaging เป็นการทยอยเข้าซื้อหน่วยลงทุนโดยใช้จำนวนเงินเท่าๆกันอย่างต่อเนื่องหรือเป็นการถัวเฉลี่ยต้นทุนนั้นเอง การซื้อหน่วยลงทุนแบบ DCA นั้นจะไม่สนใจราคาหน่วยลงทุนที่เข้าซื้อขอเพียงเข้าซื้อด้วยเวลาและจำนวนเงินเท่าๆกันนั้นเอง เช่น เข้าซื้อหุ้น A ด้วยเงิน 10,000 บาททุกๆสิ้นเดือน เป็นต้น การลงทุนแบบนี้เป็นการสร้างวินัยการลงทุนที่ดี เหมาะกับคนที่ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะลงทุนเพียงครั้งเดียวคือต้องทยอยสะสมหรืออาจเหมาะกับการลงทุนในบางสภาวะตลาด เช่น ตลาดขาลงก็ลงทุนแบบ DCA ทยอยสะสมไปเรื่องๆเพราะไม่รู้ว่าตลาดจะลงถึงเท่าใด การลงทุนแบบ DCA นี้สามารถกระจายความเสี่ยงได้เป็นอย่างดีและลดบรรยากาศความเครียดในการลงทุนได้อีกด้วย การ DCA นั้นจะเหมาะกับภาวะตลาดทุกรูปแบบหรือไม่ทั้งขาขึ้น ขาลง และ Side Way ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ภาวะตลาดขาขึ้น
ในภาวะตลาดขาขึ้นนั้นไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวหรือการลงทุนแบบ DCA ก็ล้วนได้ผลกำไรแน่นอน การลงทุนแบบ DCA จะช่วยให้เราทยอยสะสมหุ้นไปเรื่อยๆเพราะการใช้เงินทุนเพียงครั้งเดียวอาจจะมากไป จากตัวอย่างเริ่มลงทุน 10,000 บาทเป็นเวลา 15 เดือน เงินทุนทั้งหมด 150,000 บาท ซึ่งตลาดมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นและนักลงทุนสะสมหน่วยลงทุนได้ทั้งหมด 18,434.70 สมมติว่านักลงทุนต้องการขายในเดือนที่ 15 ซึ่งราคาหน่วยลงทุนล่าสุดขณะนั้นคือ 22 บาท ดังนั้นนักลงทุนจะขายได้ที่ราคา 405,563.40 หรือได้กำไรทั้งหมด 255,563.40 บาท
ภาวะตลาดขาลง
ภาวะตลาดขาลงไม่ว่าจะลงทุนแบบไหนก็ล้วนขาดทุนแม้แต่ DCA ก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดกับธรุกิจที่ไม่สามารถปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยี เช่น หุ้นของบริษัทที่ขายคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ CD VDO กล้องถ่ายรูป เป็นต้น จากตัวอย่างเริ่มลงทุน 10,000 บาทเป็นเวลา 15 เดือน เงินทุนทั้งหมด 150,000 บาท ซึ่งตลาดมีแนวโน้มเป็นขาลงและนักลงทุนสะสมหน่วยลงทุนได้ทั้งหมด 16,862.56 สมมติว่านักลงทุนต้องการขายในเดือนที่ 15 ซึ่งราคาหน่วยลงทุนล่าสุดขณะนั้นคือ 4 บาท ดังนั้นนักลงทุนจะขายได้ที่ราคา 67,450.24 หรือขาดทุน 82,549.76 บาท
ภาวะตลาด Side Way
เป็นภาวะที่ตลาดไม่ได้มีแนวโน้มเคลื่อนที่ขึ้นหรือลงอย่างชัดเจนคือเคลื่อนที่ขึ้นๆลงๆนั่นเอง จากตัวอย่างเริ่มลงทุน 10,000 บาทเป็นเวลา 15 เดือน เงินทุนทั้งหมด 150,000 บาท ซึ่งตลาดมีแนวโน้มเป็นแบบ Side Way และนักลงทุนสะสมหน่วยลงทุนได้ทั้งหมด 11,934.52 สมมติว่านักลงทุนต้องการขายในเดือนที่ 15 ซึ่งราคาหน่วยลงทุนล่าสุดขณะนั้นคือ 15 บาท ดังนั้นนักลงทุนจะขายได้ที่ราคา 179,017.80 หรือได้กำไรทั้งหมด 29,017.80 บาท
ข้อดีของ DCA
- เป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
- สามารถสะสมหุ้นที่ต้องการได้อย่างต่อเนื่อง
- เป็นการสร้างวินัยในการลงทุน เช่น เมื่อเงินเดือนออกจะบังคับตัวเองให้ตัดเงินมาลงทุนแบบ DCA ทุกๆเดือน
- ลดความเครียดในการลงทุน
ข้อเสียของ DCA
- ไม่เหมาะสำหรับการลงทุนระยะสั้น (น้อยกว่า 5 ปี)
- ไม่เหมาะกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่ด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ
DCA เหมาะกับสินทรัพย์แบบไหนบ้าง
- กองทุนรวมต่างๆ
- ซื้อกองทุนหุ้นอิงดัชนี เช่น SET50 SET100 เป็นต้น
- ตราสารหนี้
- พันธบัตรรัฐบาล
- ทองคำ
- ซื้อหลายๆแบบรวมกัน